สัมภาษณ์พิเศษ CP All x Panasonic Energy: ก้าวใหม่ของความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

สัมภาษณ์พิเศษ CP All x Panasonic Energy: ก้าวใหม่ของความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

公開日 2025.01.10

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตขยะล้นเมือง หลุมฝังกลบหลายแห่งเต็มไปด้วยขยะที่ไม่ได้คัดแยก ทั้งยังขาดกระบวนการกำจัดอย่างเหมาะสม ซึ่งครั้งหนึ่งถ่านไฟฉายของ พานาโซนิค เอเนอร์จี ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยกว่า 80% เคยถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบเช่นกัน จนกระทั่งเส้นทางการกำจัดถ่านไฟฉายใช้แล้วเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพานาโซนิค เอเนอร์จี จับมือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี ออลล์) เพื่อขับเคลื่อนโครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน บทความพิเศษนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของสองบริษัทไทย – ญี่ปุ่นที่ร่วมกันผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย

Panasonic Energy (Thailand) Co., Ltd. Managing Director Mr. Takuya Tanimoto CP ALL Public Company Limited Senior Vice President Mr. Thupthep Jiraadisawong

Interviewees:

ทาคุยะ ทานิโมโตะ, กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด

ทำไมถ่านไฟฉายพานาโซนิคจึงเป็นเจ้าตลาด?

บริษัท พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “พานาโซนิค เอเนอร์จี” ผู้ผลิต “ถ่านไฟฉายตราช้าง” ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีวางจำหน่ายตามร้านค้าท้องถิ่นไปจนถึงร้านสะดวกซื้อ รวมเกือบ 100,000 แห่ง ครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศประมาณ 80% คุณทานิโมโตะเผยจุดแข็งที่อยู่เบื้องหลังการเป็นเจ้าตลาดนี้ว่า “เราเป็นผู้ผลิตถ่านไฟฉายเพียงหนึ่งเดียวในไทยที่มีโรงงานผลิตภายในประเทศ จุดเด่นที่สำคัญที่สุดคือ เราผลิตถ่ายไฟฉายคุณภาพสูง มีประสิทธิภาพ ภายใต้การจัดการซัพพลายเชน (SCM) ที่ยืดหยุ่น ซึ่งดำเนินการมายาวนานกว่า 60 ปีแล้ว”

อีกหนึ่งจุดแข็งของพานาโซนิค เอเนอร์จีคือ เครือข่ายการกระจายสินค้าในประเทศที่แข็งแกร่ง คุณทานิโมโตะกล่าวว่า ถ่านไฟฉายพานาโซนิคจำหน่ายผ่านดีลเลอร์ 17 บริษัท ตัวแทนเหล่านี้จะไปตามร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกด้วยตนเอง รวมถึงมีการจำหน่ายให้แก่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ดำเนินกิจการโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งจำหน่ายถ่านไฟฉายพานาโซนิคมายาวนานกว่า 25 ปี ทำให้ถ่านไฟฉายพานาโซนิคกลายเป็นสิ่งที่คนไทยพบเจอได้ทุกวัน

Alkaline batteries manufactured and sold by Panasonic Energy (Thailand) and manganese batteries, known as “elephant-branded batteries”
Advertisements with lion characters often seen in Bangkok

ตั้งบริษัทย่อยนอกญี่ปุ่นแห่งแรกในไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พานาโซนิค เอเนอร์จี ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 ในรูปแบบบริษัทโฮลดิ้ง แต่จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ในปี 1918 บริษัท Matsushita Electric Industrial ได้ถือกำเนิดขึ้น และในปี 1931 บริษัทเริ่มผลิตถ่านไฟฉายแบบ in-house ต่อมาในปี 1961 ได้ขยายธุรกิจมายังประเทศไทย โดยก่อตั้งบริษัท National Thai Co., Ltd. ขึ้น ถือเป็นบริษัทย่อยต่างประเทศแห่งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเริ่มผลิตถ่านไฟฉายแมงกานีส รวมถึงเครื่องเสียง โทรทัศน์ และพัดลม จากนั้นนับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา บริษัทมุ่งเน้นธุรกิจถ่านไฟฉายอย่างเต็มตัว พร้อมเพิ่มความสามารถในการผลิตให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2008 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น พานาโซนิค เอเนอร์จี (ประเทศไทย) ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน

พานาโซนิค เอเนอร์จีมีฐานการผลิตหลัก 20 แห่งทั่วโลก ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ที่ประเทศไทยและอินโดนีเซีย ในปี 2020 บริษัทเปิดตัวสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Headquarter : RHQ) เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ และ Know-how ที่สั่งสมในไทยไปยังประเทศอื่น ๆ คุณทานิโมโตะเองก็มีบทบาทสำคัญในการดูแลภาพรวมของ RHQ แห่งนี้ด้วย

รวมฝ่ายผลิตและฝ่ายขาย อีกขั้นสู่การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม

Mission ของพานาโซนิค เอเนอร์จี คือ “สร้างสังคมแห่งความสมดุลระหว่างความสุขของผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนโดยปราศจากความขัดแย้ง” คุณทานิโมโตะเผยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอย่างจริงจัง เกิดจากการรวมฝ่ายขายและฝ่ายผลิตของ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าด้วยกันในปี 2022 เขากล่าวว่า “เราตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงในประเทศไทย ทั้งการขาดแคลนพื้นที่ฝังกลบ ขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น และไม่มีการคัดแยกขยะอย่างเหมาะสม ก่อนหน้านี้บริษัทของเรามุ่งเน้นแค่การผลิตเท่านั้น แต่หลังจากเราเชื่อมโยงกับลูกค้าได้เองโดยตรง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน บริษัทตั้งเป้าหมายในการเป็น “องค์กรที่สังคมไทยไม่อาจขาดไปได้ในอีก 100 ปีข้างหน้า” พร้อมกำหนดแผนนโยบายระยะกลาง 3 ด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภค 2. สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น 3. ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม

โดยในข้อแรก บริษัทมุ่งยกระดับชีวิตของผู้โภคผ่านถ่านไฟฉายที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพดี และราคาย่อมเยา ถัดมาในข้อที่ 2 บริษัทจัดกิจกรรม “Battery Exchange Event” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CSR ตั้งแต่ปี 2005 และจะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยจะเดินทางไปแต่ละหมู่บ้านเพื่อรับแลกถ่านไฟฉายใช้แล้วเป็นถ่านไฟฉายใหม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้าง Brand Loyalty แต่ยังได้ข้อมูลเชิงลึกอย่างขนาดถ่านไฟฉายและอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคใช้งานจริง ซึ่งมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตด้วย

Handmade battery classes by Panasonic Energy (Thailand)

อีกทั้งยังมีการสานสัมพันธ์กับชุมชนอย่างจริงจังผ่านการเยี่ยมโรงเรียนในหมู่บ้านและจัดกิจกรรมห้องเรียนถ่านไฟฉายทำมือ คุณทานิโมโตะกล่าวว่า “เด็ก ๆ ในโรงเรียนตามหมู่บ้านแทบไม่มีโอกาสทำกิจกรรมประดิษฐ์ของทำมือที่จัดโดยบริษัทเอกชนเลย เราจึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเสมอ แม้จะไปโดยไม่ได้แจ้งไว้ก่อน” เขาเล่าประสบการณ์อันน่าประทับใจให้ฟังว่า “หลังจากทำถ่านไฟฉายด้วยชุดอุปกรณ์ประดิษฐ์ถ่านทำมือเสร็จ พวกเราปิดไฟในห้อง ทันทีที่เด็ก ๆ เปิดไฟจากถ่านที่ทำเอง ใบหน้าของพวกเขาพลันสว่างไสวด้วยรอยยิ้มสดใส”

สำหรับข้อที่ 3 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ บริษัทได้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการผสมผสานทั้งการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน และการชดเชยคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลในการนำระบบรับรอง “Made from Carbon Neutral Factory” มาใช้ และได้รับการอนุมัติเรียบร้อย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ถ่านไฟฉายที่มีตรารับรองนี้วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คุณทานิโมโตะอธิบายว่า “เดิมทีประเทศไทยยังไม่มีระบบการรับรองประเภทนี้ จึงเริ่มต้นจากการขอรับรองมาตรฐาน ‘PAS 2060 Carbon Neutrality’ ที่เป็นที่ยอมรับระดับสากลก่อน จากนั้นจึงร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อวางเงื่อนไขการรับรองและระบบต่าง ๆ จนสามารถนำมาใช้และได้รับรองเป็นที่เรียบร้อย” นอกจากนี้ พานาโซนิค เอเนอร์จียังร่วมมือกับซีพี ออลล์ ริเริ่มโครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้วตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นครั้งแรกในไทย โดยเริ่มจากการตั้งจุดรับทิ้งถ่านไฟฉายใช้แล้วภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นด้วย

Batteries with the “Made from Carbon Neutral Factory” certification logo

เส้นทางแห่งความท้าทาย สู่การรีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้ว

ในโครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายใช้แล้ว ได้มีการตั้งกล่องรับทิ้งถ่านไฟฉายตามหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยถ่านที่รวบรวมได้จะถูกส่งกลับไปยังพานาโซนิคเพื่อคัดแยก จากนั้นจึงส่งไปยังบริษัท ยู เอ็ม ซี เม็ททอล จำกัด หรือ “UMC Metals” พันธมิตรผู้ผลิตเหล็กแท่ง คุณทานิโมโตะอธิบายว่า “จากแนวทางของรัฐบาล ปัจจุบันมีถ่านไฟฉายของพานาโซนิคเพียงเจ้าเดียวที่ได้รับการรับรองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องคัดแยกเฉพาะถ่านไฟฉายพานาโซนิคจากถ่านที่รวบรวมได้ทั้งหมด เพื่อนำไปรีไซเคิลในเตาหลอมของ UMC Metals”

Used battery collection box

“โครงการนี้ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทั้งหมดหรอกครับ” คุณทานิโมโตะเอ่ยด้วยสีหน้าจริงจัง เขาเล่าว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2019 เป็นต้นมา เขาพยายามเสนอผู้บริหารระดับสูงของซีพี ออลล์ เพื่อจับมือกันมุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นจริง ในฐานะบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายต้องใช้เวลาในการหาข้อตกลงร่วมกันในขั้นตอนเจรจารายละเอียด เช่น วิธีดำเนินโครงการ ค่าใช้จ่าย สถานที่วางกล่องรับทิ้งถ่านไฟฉาย ขณะเดียวกัน ฝั่งบริษัทแม่ของพานาโซนิคที่ญี่ปุ่นก็เรียกร้องให้อธิบายความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นใหม่ ทำให้ต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก นอกจากนี้ ในเวลานั้นยังไม่มีพนักงานที่มีความรู้ด้านการรีไซเคิล จึงต้องตั้งคณะทำงาน (Working Group) ในองค์กรขึ้น และดำเนินโครงการนี้ควบคู่ไปกับงานหลักด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับผิดชอบขั้นตอนการเก็บรวบรวมถ่าน และกลุ่มที่รับผิดชอบขั้นตอนการรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะมีพนักงานคนไทยอยู่ และต้องประสานงานกับหน่วยงานภายนอกด้วย

“สิ่งที่ยากที่สุดคือ การตอบให้ได้ว่าจะนำถ่านไฟฉายไปรีไซเคิลเป็นอะไร” คุณทานิโมโตะเผยว่า ช่วงแรกเคยมีไอเดียจะนำถ่านไฟฉายไปรีไซเคิลเป็นส่วนผสมในปุ๋ย และได้พูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยแล้ว แต่ด้วยอุปสรรคหลายอย่าง ทำให้ไอเดียนี้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ รวมถึงมีไอเดียจะนำไปรีไซเคิลเป็นเหล็ก แม้จะใช้เวลาอยู่พักใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถหาบริษัทที่สนใจไอเดียนี้ได้

ก้าวสำคัญจากการเข้ามาของพันธมิตรและแรงหนุนจากสำนักงานใหญ่

สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปี 2021 เมื่อร่วมมือกับพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน โดยจับมือกับ บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทรีไซเคิลจากญี่ปุ่น และ UMC Metals บริษัทผู้ผลิตเหล็กในไทย ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์มากกว่า 90 ปีในธุรกิจรีไซเคิลเหล็ก มีความเชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลเป็นอย่างมาก ส่วน UMC Metals มีเทคโนโลยีขั้นสูงในการรีไซเคิลอย่างการหลอมถ่านไฟฉาย ด้วยความร่วมมือของทั้งสองบริษัท ทำให้ในเดือนกันยายน ปี 2021 พานาโซนิคได้ยื่นขออนุญาตดำเนินการรีไซเคิลถ่านไฟฉายด้วยเตาหลอมไฟฟ้าไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (DIW) อย่างไรก็ตาม คุณทานิโมโตะเผยว่า “แม้ว่าจะยื่นเรื่องขออนุญาตไปแล้ว แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในไทยไม่เคยมีโครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายมาก่อน ถึงขั้นที่ว่าพนักงานของเราต้องไปร่วมงานสัมมนาของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องจำหน้าได้”

ความคืบหน้าในเชิงปฏิบัติกับซีพี ออลล์ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน ปี 2022 ได้มีการตั้งกล่องรับทิ้งถ่านไฟฉายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นครั้งแรก และภายในเดือนมีนาคม ปี 2023 ได้ขยายจุดวางกล่องเป็น 31 สาขา พร้อมจัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นโครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล

ต่อมา หลังจากที่ผู้บริหารของพานาโซนิค เอเนอร์จี สำนักงานใหญ่ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการรีไซเคิลถ่านไฟฉายอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ได้ให้ความร่วมมือในการเจรจาอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุผลสำเร็จในที่สุด โดยในเดือนธันวาคม ปี 2023 บริษัทได้รับอนุญาตให้ดำเนินการรีไซเคิลถ่านไฟฉายด้วยเตาหลอมไฟฟ้า และในเดือนมีนาคมปีถัดมา ได้เริ่มรีไซเคิลถ่านไฟฉายเป็นครั้งแรกที่ UMC Metals รวมถึงจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยมีอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ข่าวนี้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ชั้นนำของไทย เกิดกระแสตอบรับอย่างกว้างขวาง

Ceremony marking the start of electric furnace recycling
Discussions with the DIW director-general

ขยายจุดรับทิ้งครบ 1,000 สาขา สู่จุดเริ่มต้นครั้งใหม่

ในวันสิ่งแวดล้อมโลก เดือนมิถุนายน ปี 2024 กล่องรับทิ้งถ่านไฟฉายได้ถูกกระจายไปยังเซเว่น อีเลฟเว่น 1,000 สาขาครบตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม คุณทานิโมโตะกล่าวว่า “จำนวนเซเว่น อีเลฟเว่นมีกว่า 15,000 สาขาทั่วประเทศ นับว่าหนทางยังอีกยาวไกล อีกทั้งในไทยมีถ่านไฟฉายถูกทิ้งประมาณ 300 ล้านก้อนต่อปี หรือประมาณ 4 ก้อนต่อคนต่อปีโดยเฉลี่ย การเก็บรวบรวมถ่านไฟฉายมารีไซเคิลให้หมดทุกก้อน จึงเป็นเป้าหมายที่ต้องใช้เวลากว่าจะไปถึง”

สำหรับแผนการในอนาคต คุณทานิโมโตะเผยถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งมีหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลถ่านไฟฉาย นำโดยพานาโซนิค เอเนอร์จี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (PMUC) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2024 ได้เริ่มการประชุมหารือเพื่อวางโครงสร้างแผนงานรีไซเคิลถ่านไฟฉายทั่วประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นที่เรียกได้ว่ามีแค่พานาโซนิค เอเนอร์จีเพียงลำพัง เวลาผ่านไปก็มีพันธมิตรเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนก้าวขึ้นเป็นผู้นำในโครงการถ่านไฟฉายตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทย สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ของความพยายามไม่เคยหยุดยั้ง

“เป้าหมายของเราคือ สร้างระบบแบบครบวงจร ตั้งแต่เก็บรวบรวม คัดแยก รีไซเคิล และสร้างการรับรู้ในสังคมไทย” คุณทานิโมโตะกล่าว “โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เป็นการรวมตัวของพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นทำสิ่งดี ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมไทย เราหวังจะสร้างคุณค่าทางธุรกิจและพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นหลังต่อไปในอนาคต”
 

THAIBIZ編集部

Recommend オススメ記事

Recent 新着記事

Ranking ランキング

TOP

SHARE