จับมือ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ร่วมขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ〜บทสัมภาษณ์คุณ ฮิดาคะ คาซุโอะประธานบริษัทมารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด〜

จับมือ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ร่วมขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ〜บทสัมภาษณ์คุณ ฮิดาคะ คาซุโอะประธานบริษัทมารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด〜

公開日 2022.05.16

เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น-ASEAN จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย TJRI จึงจัดทำชุดบทสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทการค้า (Trading) ชั้นนำของญี่ปุ่นในไทย โดยมุ่งเน้นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทย รวมถึงประชาคม ASEAN ในเรื่องทิศทางการขยายตัวของธุรกิจใหม่ ๆ โดยในฉบับที่ 2 นี้เราได้รับเกียรติจากจากประธานบริษัทมารุเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด คุณฮิดาคะ คาซุโฮะมาร่วมพูดคุยในบทสัมภาษณ์นี้

目次

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการนำเข้า-ส่งออก คือ 2 ธุรกิจหลักในประเทศไทย

 Q. ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงใดของไทยและประเทศสมาชิก ASEAN ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่นมากที่สุด

คุณฮิดาคะ: บริษัท มารุเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2517 ซึ่งในปีหน้านี้จะมีอายุครบรอบ 50 ปีพอดี แต่ถ้านับสมัยที่ยังเป็นบริษัทมารูเบนิ สาขากรุงเทพฯ (ที่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2497) เข้าไปด้วย ก็จะรวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 70 ปี โดยงานในไทยยุคแรกนั้นส่วนมากเป็นการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน

ยกตัวอย่างเช่น เคยลงทุนในบริษัท อีสเทิร์น ซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) ซึ่งเป็นการบริหารท่าเทียบเรือในแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งก็ดำเนินธุรกิจมาตลอด จนขายกิจการเมื่อ 2 ปีก่อน อีกทั้งกิจการระบบขนส่งทางรางในเขตเมืองที่ชื่อ Bangkok Express and Metro (BEM) สายสีม่วง ที่บริษัทเรากับทางบริษัท โตชิบาทำกิจการร่วมค้า สร้างระบบรางจนสำเร็จ และดำเนินธุรกิจมาจนกระทั่งในปีพ.ศ. 2559 ทางบริษัท East Japan Railway Company (JR East) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนของงานซ่อมบำรุง และกลายเป็นกิจการร่วมค้า 3 บริษัท

การสร้างโรงงานไฟฟ้าก็นับเป็นงานใหญ่ในการสร้างสาธารณูปโภคเช่นกัน บริษัทเราได้รับมอบหมายให้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในสัดส่วนที่มากถึง 40% ซึ่งสำหรับบริษัทเราแล้ว งานสร้างสาธารณูปโภคก็จัดเป็น 1 ในงานหลักของเรา แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าและการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบโรงงาน ทำให้ต่อจากนี้ แผนการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนเหล่านี้คงจะเป็นไปได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ยังมี “การนำเข้า-ส่งออก” ในยุคก่อนที่จะเริ่มมีการผลิตในประเทศไทย การนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นบทบาทสำคัญของเรา หลังจากนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากยุคที่นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นไปสู่ยุคที่ผลิตสินค้าเองในไทยนั้น หลัก ๆ แล้วบริษัทเทรดดิ้งอย่างเราได้มีการลงทุนในธุรกิจการผลิตบ้างส่วนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเราได้ถอนการลงทุนส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว เพราะว่าเราเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ทำให้ไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ และไม่สามารถสะท้อนคุณค่าในแบบของเราออกไปได้

Q. บทบาทหรือการสนับสนุนของบริษัทญี่ปุ่นที่มีต่อไทย หรือ ASEAN มีอะไรบ้าง

คุณฮิดาคะ: มีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่เรื่องที่ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อ ASEAN ก็คงจะเป็นเรื่องของการจ้างงานและการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นหลายอย่างที่คนไทยใช้กันในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่คนไทยชอบ ผมก็คิดว่าเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นขึ้น รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านสะดวกซื้อ ด้านวัฒนธรรมก็เช่น คาราโอเกะ อนิเมะ หรือมังงะ สิ่งเหล่านี้มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป

Q. ตัวอย่างการทำกิจการร่วมค้าและความร่วมมือกับบริษัทไทย

คุณฮิดาคะ: ในส่วนของกิจการร่วมค้า (Joint venture) ส่วนใหญ่เราถอนทุนออกไปจนไม่เหลือแล้ว ทว่ายังมีบริษัทที่เราถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว คือ “B-Quik” ซึ่งเป็นบริษัทซ่อมบำรุงรถยนต์ที่มีบทบาทอย่างมากในไทย งานหลักจะเป็นการเปลี่ยนหรือขายยางรถยนต์และเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง  โดยปัจจุบันมีมากกว่า 200 สาขาทั่วประเทศไทย และยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจค้าปลีก (B2C) ของมารูเบนิที่ประสบความสำเร็จ สำหรับการเพิ่มจำนวนสาขาของ B-Quik เราจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนกับอุปกรณ์และเครื่องมือเป็นจำนวนมาก จึงต้องเพิ่มเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนในไทย

ต้องสร้างบุคลากรให้มีความสามารถรอบด้าน

Q.บทบาทสำคัญของบริษัทเทรดดิ้งทั่วไปคืออะไร

คุณฮิดาคะ: 3 เสาหลักสำคัญ คือ การเงิน การขนส่งสินค้า และสินเชื่อ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่มีใครต้องการใช้บริการบริษัทเทรดดิ้ง นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทยแล้ว “ภาพลักษณ์” และ “ความน่าเชื่อถือ” ยังคงมีความจำเป็นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเทรดดิ้งญี่ปุ่นรายใหญ่เจ้าหนึ่งในไทย ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) และสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ทำให้มีเครือข่ายกับวงการธุรกิจของไทย เข้าใจบริบทการทำธุรกิจในไทย ผมคิดว่านี่เป็นส่วนที่ทำให้พวกเราเข้าใจและสามารถส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้าได้ จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถที่ครอบคลุมรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่ซื้อโลหะกับเรา ผมคิดว่าเราช่วยเขาแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งนี่คือจุดเด่นของบริษัทเทรดดิ้งทั่วไป เพราะถ้าลูกค้าต้องการจะซื้อแค่โลหะ ไปซื้อจากบริษัทการค้าอื่นที่เชี่ยวชาญด้านโลหะก็ได้ เทียบแค่ราคาเป็นหลักก็พอ

Q. ทำอย่างไรให้พนักงานคนไทยมีเอกลักษณ์ของบริษัทเทรดดิ้งทั่วไป

คุณฮิดาคะ: เราทำอยู่หลายอย่าง เช่น ฝึกฝนให้สามารถอธิบายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว) ที่กำลังจัดจำหน่ายให้เข้าใจได้ อีกทั้งเราให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรให้มีความสามารถครอบคลุมรอบด้าน โดยไม่ใช่แค่เข้าใจเฉพาะหลักการ แต่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการฝึกฝนหลากหลายรูปแบบ สำหรับผู้มีโอกาสเป็นผู้บริหารในอนาคต ก็ให้เข้าร่วมเวิร์คชอปของบริษัท ซึ่งมีพนักงานที่มีความสามารถโดดเด่นจากสาขาอื่น ๆ ทั่วโลกมารวมตัวกัน รวมถึงมีการส่งไปฝึกงานที่สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นระยะเวลาหนึ่งตามแต่แผนก ถึงแม้เราจะพยายามทำหลาย ๆ อย่าง แต่ก็ยังต้องพัฒนาให้ดีมากขึ้นไปอีก

ผลักดันให้พนักงานไทยอยากไปทำงานต่างประเทศ

Q.ปัจจุบัน มีคนไทยที่ทำงานอยู่ในส่วนบริหารบ้างไหม

คุณฮิดาคะ: ตอนนี้ก็มีผู้จัดการอยู่ แต่ว่ายังไม่มีผู้จัดการทั่วไป (GM) ในอนาคตเราอยากเปลี่ยนคนระดับผู้จัดการทั่วไปให้เป็นคนไทยเหมือนกัน แต่พูดตามตรงว่าค่อนข้างยาก เพราะเวลาประชุมกับทางสำนักงานใหญ่ต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด อีกทั้งมีปัญหาเชิงความสามารถในฝั่งคนไทยก็ด้วย เพราะว่าตำแหน่งนี้ต้องมีความรู้ที่ลึกและกว้างขวาง

ตามหลักแล้วคนญี่ปุ่นที่จะขึ้นเป็นระดับ GM จะต้องเคยไปประจำที่สาขาต่างประเทศมาแล้ว เรื่องนี้ผมเคยคุยกับคุณนิชิโนะ อาคิระ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย เขากล่าวว่า นักฟุตบอลอาชีพไทยที่เก่งและมีความสามารถนั้นมีอยู่หลายคนมาก แต่ว่าไม่มีคนที่พยายามออกไปเติบโตที่ต่างประเทศเลย ผมว่าคนไทยควรมีความกระตือรือร้นที่จะออกไปแสดงผลงานที่ต่างประเทศให้มากกว่านี้

Q. บริษัทเทรดดิ้งทั่วไปต้องการคนประเภทไหน

คุณฮิดาคะ: ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร และอีกฝ่ายอยากได้อะไรจากบริษัทเทรดดิ้งทั่วไป ถึงเราถามลูกค้าว่า “มีปัญหาอะไรไหมครับ/ค่ะ” ก็มักจะไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัด ทำให้ผมคิดว่าบุคลากรของบริษัทเทรดดิ้งทั่วไปจำเป็นต้องมี “ความอยากรู้อยากเห็น” ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น ต้องลองเดินทางไปหลาย ๆ ที่ในกรุงเทพฯ ไปดูว่าผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างไร มีปัญหาตรงไหนบ้าง ผมคิดว่าการสัมผัสประสบการณ์หรือปัญหาด้วยด้วยตนเองเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

กลุ่มบริษัทใหญ่ของไทยไม่ได้ขาดอะไร

Q. โครงการ BCG และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV เป็นอย่างไรบ้าง

คุณฮิดาคะ: ด้าน BCG เราได้ทำ MOU กับบริษัทมิตรผล เพื่อร่วมพัฒนาพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ของเหลือทางการเกษตร นอกจากนี้ก็มีธุรกิจเชื้อเพลิงมวลชีวภาพอีกด้วย ปัจจุบันเรากำลังทำธุรกิจกับบริษัทไทยที่ผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากไม้ ในอนาคตเราคิดว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในด้านการผลิต มีลูกค้าที่ต้องการเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากไม้มาใช้แทนถ่านหินอยู่ด้วย

ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเทศจีนมาแรง ส่วนญี่ปุ่นเองมีบางส่วนที่ยังไม่มีทิศทางที่แน่ชัด และยังต้องลงทุนกับเครื่องมือเครื่องจักรอีกมาก สำหรับบริษัทเรานั้น เราให้ความสำคัญกับ Fleet Management เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพมากกว่าการสร้างรถยนต์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น เรามีแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าบนคลังเก็บสินค้าทั่วไป ซึ่งตามปกติแล้วไม่ต้องใช้ไฟฟ้า โดยเพียงแค่ติดอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าไว้ใต้หลังคา และเปลี่ยนจากรถบรรทุกขนส่งสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นรถไฟฟ้า ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคลังเก็บสินค้าอย่างมาก แม้ตอนนี้ยังความต้องการยังไม่มากจึงไม่มีบริษัทไหนทำก็จริง แต่ผมอยากลองหาพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยมาทำธุรกิจโมเดลนี้ร่วมกัน

Q. โมเดลธุรกิจในอนาคตสำหรับบริษัทเทรดดิ้งคืออะไร

คุณฮิดาคะ: จากความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าระยะเวลา 10 ปีคือช่วงเวลาเหมาะสมแล้วสำหรับโมเดลธุรกิจหนึ่ง ผมคิดว่าไม่มีโมเดลธุรกิจใดที่สามารถใช้ได้ตลอดไป เมื่อก่อนเราค้าขายในฐานะคนกลางเคยรักษาข้อได้เปรียบผ่านการลงทุน และบริหารบริษัทในเครือที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือบริษัทย่อยต่าง ๆ ทว่าหลังจากนี้จะไม่ใช่รูปแบบเดิมที่ฝากทุกอย่างให้ผู้ผลิตจัดการ แล้วเราทำหน้าที่ขายอย่างเดียว แต่จะกลายเป็นรูปแบบที่เราต้องสามารถควบคุมเองได้ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่าหมดยุคสมัยที่บริษัทเทรดดิ้งต้องคอยทำหน้าที่เป็นคนกลางแล้ว

ในโลกเรามีทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างประเทศไทยและประเทศที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเช่นกัน ปัญหาของแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน จำเป็นต้องมีวิธีแก้ไขตามบริบทนั้น ๆ ตอนที่คุณนิชิมูระ ยาซุโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) มาที่ประเทศไทย เขากล่าวว่า ในตอนนี้กลุ่มเครือบริษัทใหญ่ในไทยยังไม่มีปัญหาอะไร คงจะเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความร่วมมือหรือทำกิจการร่วมค้า (Joint venture) กับบริษัทญี่ปุ่น เว้นเสียแต่ว่าจะต้องการเทคโนโลยีที่มีความล้ำสมัยมากจากญี่ปุ่น ผมคิดว่าแนวทางอนาคตความร่วมมือของบริษัทไทย-ญี่ปุ่นน่าจะเป็นไปในแนวทางการร่วมมือไปเติบโตในต่างประเทศมากกว่า

TJRI編集部

Recommend オススメ記事

Recent 新着記事

Ranking ランキング

TOP

SHARE