~สัมภาษณ์คุณมาเอดะ ชิเกะคิ・ประธานบริษัท โตโยต้า ทูโช (ประเทศไทย) จำกัด〜

~สัมภาษณ์คุณมาเอดะ ชิเกะคิ・ประธานบริษัท โตโยต้า ทูโช (ประเทศไทย) จำกัด〜

公開日 2022.05.17

โตโยต้า ทูโชขยายธุรกิจโดยการควบรวมกิจการกับบริษัท คาโช (Kasho Co.,LTD.) ในพ.ศ. 2543 และบริษัท โตเมน (TOMEN Corporation) ในพ.ศ. 2549 ในเดือนเมษายนปีนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากร โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสาขาไทยได้รับหน้าที่ให้ดูแลภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ในชุดบทสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของญี่ปุ่นในไทยฉบับที่ 5 เราได้รับเกียรติจากคุณมาเอดะ ชิเกะคิ ประธานบริษัท โตโยต้า ทูโช (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย มาร่วมพูดคุยในบทสัมภาษณ์นี้

目次

Q. การเปลี่ยนแปลงบุคลากรในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่ออะไร

ประธานมาเอดะ: ในพ.ศ. 2564 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานบริษัทของสาขาไทย แต่เนื่องจากการปฏิรูปองค์กรของโตโยต้า ทูโช ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียเปลี่ยนจากสิงคโปร์มาเป็นไทย จึงต้องดูแลรับผิดชอบ 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่กลุ่มประเทศ ASEAN ไปจนถึงอินเดียและออสเตรเลีย

ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยมีความสำคัญกับโตโยต้า กรุ๊ปมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้กฎระเบียบเกี่ยวกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เข้มงวดมากขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน แต่สำหรับแอฟริกาและตะวันออกกลางนั้น การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปเป็นรถ EV ยังเป็นเรื่องยากอยู่ ในอนาคตการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์สันดาปในยุโรป อเมริกา และจีนจะทำได้ยากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนจึงมุ่งไปที่อื่นเช่นเอเชียหรือกลุ่มประเทศ ASEAN สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีโรงงานผลิต ซึ่งสิงคโปร์ไม่ค่อยมี อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมรองรับ ส่งผลให้ไทยอาจจะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับรถยนต์สันดาป ไปพร้อม ๆ กับรถยนต์ EV ก็เป็นได้

Q. ช่วยเล่าถึงกลยุทธ์ของโตโยต้าซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงจากสื่อไทยในขณะนี้

ประธานมาเอดะ: เราจำเป็นต้องพิจารณาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงมาจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นมีปริมาณ CO2 ลดลง 23% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2565 เนื่องจากการแพร่หลายของรถยนต์ไฮบริด (HEV) ทว่าฝั่งยุโรปและอเมริกากลับมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

เรื่องของไฮโดรเจนนั้น ถึงแม้จะยังไม่มีกฏหมายรองรับอย่างเต็มที่ แต่ผมรู้สึกว่ามันคือเชื้อเพลิงที่จะมีศักยภาพดีในอนาคต นอกจากนี้ โตโยต้าและบริษัทอื่น ๆ ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนในญี่ปุ่นชื่อ “Commertial Japan Partnership Technologies” (CJPT) มีจุดประสงค์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ โดยจะขยายมาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ได้มีเพียงโตโยต้าบริษัทเดียว แต่จะร่วมมือกันกับบริษัทอื่น ๆ ในฐานะสมาคม เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคมไทย

Q. โตโยต้า ทูโช มีบทบาทอย่างไรในการขยายธุรกิจไปทั่วโลกของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน

ประธานมาเอดะ: โตโยต้า ทูโชนั้นเป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันโตโยต้า กรุ๊ปอยู่เบื้องหลังมาอย่างยาวนาน เรายังเคยเข้าไปเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ธนาคารและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมยังไม่มั่นคงด้วย ตัวผมเองดูแลตลาดยุโรปและอเมริกา เลยประจำการอยู่ที่เยอรมนีและอเมริกามาเป็นเวลานาน นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับมอบหมายให้มาดูแลทางฝั่งเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีทรัพยากรบุคคลมากมาย จึงสามารถทำงานได้โดยง่าย เราต้องการที่จะมีส่วนร่วมกับกิจการของโตโยต้า กรุ๊ปต่อไป พร้อมทั้งศึกษาตลาดที่กำลังเติบโตในประเทศข้างเคียงอย่างอินเดียและอินโดนิเซียอยู่อย่างรอบด้าน

Q. ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงใดของไทย และประเทศสมาชิก ASEAN ที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทญี่ปุ่นมากที่สุด

ประธานมาเอดะ: โตโยต้า ทูโชเข้ามาในไทยเมื่อ 67 ปีที่แล้ว ในเวลานั้นธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ ส่วนงานเกี่ยวกับรถยนต์เริ่มเฟื่องฟูขึ้นหลังจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยเริ่มลงทุนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน และเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มเข้าสู่ตลาด ซึ่งโตโยต้า ทูโชก็ถูกคาดหวังในฐานะผู้นำร่องในตลาด จนปัจจุบันมีการลงทุนในบริษัทมากกว่า 90 แห่ง จนตอนนี้ไทยเป็น 1 ใน 10 อันดับประเทศผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก และผมเชื่อว่าเรามีส่วนผลักดันการผลิตยานยนต์ของไทยไม่มากก็น้อย ปัจจุบัน อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยสามารถผลิตได้ประมาณ 2 ล้านคัน โดยส่งออกประมาณครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ เราเชื่อว่าการช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนในการส่งเสริมการส่งออกคือหนึ่งในหน้าที่ของเราเช่นกัน

Q. ไทยมีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก ASEAN อื่น ๆ

ประธานมาเอดะ: ไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้ง่าย ในอนาคตคาดว่าบทบาทด้านการผลิตหรือการทำงานอื่น ๆ ของไทยอาจจะถูกแบ่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรจำนวนมากและตลาดมีการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนิเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งไทยอาจจะถูกคาดหวังให้เข้าไปมีบทบาทในการการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปสู่ประเทศอื่น ๆ

Q. มีความคิดเห็นอย่างไรกับการ Localization ของไทย

ประธานมาเอดะ: จนถึงปัจจุบัน โตโยต้า ทูโช (ประเทศไทย) ใช้วิธีการให้ชาวญี่ปุ่นเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันบริษัทฯ แต่หากลองมองไปข้างหน้าอีก 5-10 ปี จะเห็นได้ชัดว่าวิธีที่เราใช้มาจนถึงตอนนี้มาถึงขีดจำกัดแล้ว ในอนาคตสิ่งที่สำคัญคือจะร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในไทยและพัฒนางานของเราได้อย่างไร บริษัทเราจึงได้เริ่มแต่งตั้งพนักงานชาวไทยที่มีความสามารถให้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญของบริษัทอยู่เช่นกัน

ทันทีที่มาประจำการที่ไทย ผมเคยถูกกลุ่มบริษัทใหญ่ในไทยว่า “ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศชาตินิยม”บริษัทญี่ปุ่นต้องการทำงานกับแค่บริษัทชาติเดียวกัน และยังต้องการที่จะใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสื่อสารอีกด้วย การฝึกอบรมพนักงานไทยก็ค่อนข้างล่าช้า แม้แต่คนไทยด้วยกันเองยังไม่ค่อยสื่อสารกัน” ผมตระหนักถึงปัญหาร้ายแรงว่า ถ้ายังไม่ฝึกอบรมและแต่งตั้งคนไทยที่มีความสามารถให้ขึ้นมาบริหาร การทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทใหญ่ในไทยจะไม่ก้าวหน้าไปไหน

ดังนั้น ในปีนี้ผมมีความคิดที่จะปั้นคนที่มีความกล้า พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ ให้มากยิ่งขึ้น จึงได้ตั้งสโลแกนว่า “Be The First Penguin” เปรียบได้กับเพนกวินที่กระโดดลงมหาสมุทรเป็นตัวแรกเพื่อหาอาหาร แม้จะต้องเผชิญกับนักล่าก็ตาม ซึ่ง First Penguin ไม่ได้หมายถึงคนที่สร้างงานใหม่ ๆ เท่านั้น แต่คือคนที่คิดวิธีการทำงานแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนต่างหาก กิจกรรมนี้เริ่มต้นขึ้นโดยคำนึงถึงพนักงานชาวไทยเป็นหลัก พอมีการจัดการประกวดขึ้น ผมรู้สึกว่าได้รับผลตอบรับที่ดีและมีการเสนอไอเดียเข้ามามากมาย

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมกระแสโลกาภิวัฒน์ เรากำลังดำเนินการส่งพนักงานชาวไทยไปประจำยังประเทศอื่น ๆ เช่น อเมริกา ยุโรป และจีน ปัจจุบันได้มีการส่งพนักงานชาวไทยประมาณ 20 คนไปยังต่างประเทศแล้ว ในทางกลับกันเราก็มีพนักงานจากต่างประเทศอย่างมาเลเซียและอียิปต์มาประจำที่ไทยเช่นกัน เพื่อให้เมืองไทยเป็นที่นิยมยิ่งขึ้น ปัจจุบันธุรกิจของเราประมาณ 45% อยู่ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย การยึดติดกับญี่ปุ่นน้อยลง นอกจากนี้เรายังต้องการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคอื่น ๆ  เช่น จีน ยุโรป และอเมริกาด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าหมดยุคที่พนักงานไทยจะเป็นผู้ตามพนักงานชาวญี่ปุ่นอย่างเดียวแล้ว เพราะพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาจะประจำอยู่ที่ไทยแค่ 3-5 ปีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นคนไทย บางคนอาจทำงานมานานถึง 20-30 ปี ซึ่งผมก็กำลังหารือเรื่องการให้พนักงานชาวไทยขึ้นมาเป็นผู้นำอยู่

Q. ช่วยเล่าถึงการร่วมมือกับ Start Up หรือขยายธุรกิจใหม่นอกเหนือจากรถยนต์ของโตโยต้า ทูโช

ประธานมาเอดะ: เราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันข้ามอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น ไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงภาคอื่น ๆ อย่างเศรษฐกิจหมุนเวียน SDGs หรือการรีไซเคิลด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรซิ่นที่มีการใช้ในทุกอุตสาหกรรม ต้องพิจารณาว่าจะนำไปใช้เชิงพาณิชย์ให้ครอบคลุมได้อย่างไรบ้าง เราต้องการที่จะใช้”เงิน” “คน” “สินค้า” และ”ข้อมูล” ที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะบางที่ในสังคมที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยก้าวข้ามขอบเขตของอุตสาหกรรมเราคำนึงถึงสิ่งนี้เมื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย ทุกวันนี้ไทยกำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดลดลงและจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ธุรกิจใหม่จึงควรเป็นธุรกิจที่ธุรกิจที่จะตอบโจทย์ในอนาคต เช่น ด้านการเเพทย์, สุขภาพ, การเกษตร และการสูญเสียอาหาร (Food Loss)

Q. ช่วยยกตัวอย่างธุรกิจหรือโครงการใหม่ ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่

ประธานมาเอดะ: จุดแข็งอย่างหนึ่งของเราคือด้านการทำธุรกิจหมุนเวียน หรือ“ธุรกิจหลอดเลือดดำ(Venous business)” เช่น การรีไซเคิลและการรียูส ในอนาคตเมื่อยุคของรถยนต์ EV มาถึง สิ่งที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่คือจะทำจัดการกับแบตเตอรี่ การรีไซเคิลนั้นเราจะนึกถึงโลหะเป็นหลัก แต่เรากำลังพิจารณาว่าเรซิ่นจะสามารถนำมาใช้ซ้ำในรถยนต์หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้หรือไม่ นี่คือธุรกิจที่เรากำลังผลักดันอยู่

เรากำลังดำเนินโครงการสาธิตการรีไซเคิล “End-of-Life Vehicle (ELV)” หรือซากรถยนต์ นอกจากนี้ เรายังสำรวจอย่างละเอียดด้วยว่า ปัจจุบัน ซากรถยนต์ในไทยถูกนำไปทิ้งในเส้นทางใด มีการนำไปจำหน่ายในตลาดรถมือสองในต่างประเทศ หรือมีการแยกส่วนและจำหน่ายเป็นอะไหล่มือสองหรือไม่ โดยเรากำลังปรึกษากับรัฐบาลไทยและสถานทูตญี่ปุ่นในการเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างระบบเก็บรวบรวมซากรถยนต์เก่า ทั้งเรื่องการออกกฏหมายและมาตรการณ์จูงใจอื่นๆอยู่เช่นกัน ไทยยังมีมุมมองเกี่ยวกับการรีไซเคิลน้อยอยู่ แต่เราเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจประเภทเหล่านี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เราสามารถมีส่วนร่วมกับสังคมไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย นอกจากนี้ เรายังต้องการดำเนินงานเกี่ยวกับการรีไซเคิลในทุกสิ่ง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนให้มากขึ้น โดยตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการส่งเสริมการลดคาร์บอน ความเป็นกลางของคาร์บอน และเศรษฐกิจหมุนเวียน

Q. การร่วมสร้างสรรค์ (Co-Creation) ร่วมกับพาร์ทเนอร์ชาวไทยเป็นอย่างไรอยู่บ้าง

ประธานมาเอดะ: เรากำลังพิจารณาการทำการค้าในเชิงลึกมากขึ้นร่วมกับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย เช่น เครือซิเมนต์ไทย (SCG) และกลุ่มบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (PTT) ในสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงานหมุนเวียน การจัดการพลังงาน และการปรับปรุงด้านโลจิสติกส์นอกจากนี้ มีอีกหลายส่วนที่บริษัทญี่ปุ่นสามารถมีส่วนร่วมในด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ เช่น บริษัทพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างอมตะ คอร์ปอเรชั่น และดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA Group) ผมคิดว่าบริษัทเหล่านี้เป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง

TJRI編集部

Recommend オススメ記事

Recent 新着記事

Ranking ランキング

TOP

SHARE